Local
 
สถิติผู้เข้าชม
Today
1
Yesterday
1
This month
18
This year
109

ข่าวสาร ฝ่ายวิจัย


มข.เปิดตัวโปรแกรม CKDNET Tools คัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง

20/12/2016
อ่าน : 1945 ล่าสุด : 2024-04-19 04:14:34


       เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2559 เวลา 14.00  น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวโปรแกรม CKDNET Tools สารสนเทศทางการแพทย์เพื่อคัดกรองและป้องกันกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับโรงพยาบาลกว่า 4 แห่ง โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ ประกอบด้วย ศ. ดร. ศุภชัยปทุมนากุลรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี  รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้อำนวยการศูนย์จำการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์  ศ.ดร.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์  และผู้แทนจากโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงระบบสารสนเทศ  โปรแกรม CKDNET Tools (ซีเคดีเน็ตทูลส์) คัดกรองและป้องกันกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
        รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาที่พบบ่อยในระบบการรักษาของไทย ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ มีนโยบายตามยุทธศาสตร์ที่ 2  Excellence Academy เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางศิลปะวิทยาการ และยุทธศาสตร์ที่ 3 Culture and Care Community เป็นองค์กรที่มีความห่วงใยและดูแลชุมชน มีหน้าที่ผลิตงานวิจัย บริการวิชาการแก่ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ผ่านงานวิจัยมากมาย หนึ่งในนั้นคือ โปรแกรม CKDNET Tools เพื่อคัดกรองและป้องกันกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
         “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมั่นใจว่าระบบสารสนเทศทางการแพทย์ โดยพัฒนาโปรแกรม CKDNET Tools สำหรับดำเนินงานป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง ด้วยการบริหารข้อมูลอันเป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยนั้น  จะช่วยแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ ซึ่งหากสามารถแก้ไขผู้ป่วยโรคไตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ เชื่อว่า การจะแก้ไขปัญหาโรคไตทั้งประเทศไทยให้สำเร็จนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป และแน่นอนว่าเราจะสามารถขจัดโรคนี้ออกจากสังคมไทยได้ในที่สุด”  อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น   กล่าว
          โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เพราะมีความชุกที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งตามความรุนแรงของโรคเป็น 5 ระยะ ซึ่งจากการศึกษาระบาดวิทยาโรคไตเรื้อรังในชุมชนของประเทศไทย (Thai SEEK Study)พบความชุกของโรคจากระยะที่ 1-5 เท่ากับร้อยละ 3.3, 5.6, 7.5, 0.8 และ 0.3 ตามลำดับ โดยความชุกของโรคไตเรื้อรังจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น มีประชากรเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้นที่ทราบว่าตนกำลังเป็นโรคไต เมื่อโรคดำเนินไปสู่ระยะที่ 5 จะเกิดภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (end stage renal disease; ESRD) อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อคนต่อปี โดยในปี 2555 พบว่ารัฐใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท ดังนั้นหากมีระบบคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังและค้นพบผู้ป่วยในระยะ แรกของโรค และให้ความรู้เรื่องอาหารและการปฏิบัติตัว รวมถึงให้ยาที่เหมาะสม จะสามารถป้องกันและชะลอการเสื่อมของหน้าที่ไตได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการสูญเสียทรัพยากรไป ใช้ในการรักษาระยะท้ายของโรค
          รศ.พญ.ศิริรัตน์  อนุตระกูลชัย หัวหน้าโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เผยว่า โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Chronic Kidney Disease Prevention in the Northeast of Thailand: CKDNET)  ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกลุ่มวิจัยฯ เพื่อร่วมกันใช้องค์ความรู้ในการสร้างรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคไตในชุมชน  มีการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไตแก่สาธารณะ ถ่ายทอดและฝึกอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุข และร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อแผนนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan)ของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คัดกรองได้เบื้องต้นแทนการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลซึ่เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ
         “CKDNET จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือพัฒนาสารสนเทศทางการแพทย์ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ หน่วยงานโรงพยาบาล จัดทำโปรแกรมและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงโรคไตและผู้ป่วยโรคไต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแรก ทั้งในระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครครอบครัว (อสค.) โดยมุ่งหวังให้เกิดการป้องกันและชะลอโรคไต ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเข้มงวดและครอบคลุมมากขึ้น รศ.พญ.ศิริรัตน์  กล่าว
          ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย กองบริหารงานวิจัย  ,ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (ธรรมศักดิ์) คณะสาธารณสุขศาสตร์ ,ศูนย์ป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนำร่องในโรงพยาบาล 4 แห่งประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลชัยภูมิ และโรงพยาบาลโกสุมพิสัย
          ผู้สนใจสามารถเข้าโปรแกรมคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้ที่ https://www.ckdnet.org/  ติดต่อเกี่ยวกับการเข้าใช้งานได้ที่คุณจารุวรรณ เถื่อนมั่น โทร. 083-1451504

20/12/2016 | กรวิกา ภูนบผา